thansettakij
วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ศัตรูเงียบในอากาศ ที่ต้องระวัง (จบ)

วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ศัตรูเงียบในอากาศ ที่ต้องระวัง (จบ)

30 มี.ค. 2568 | 21:54 น.

วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ศัตรูเงียบในอากาศ ที่ต้องระวัง (จบ) : Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ tanee.maneenut@gmail.com

ช่วงนี้ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาหนักที่ไม่เพียงแค่ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว แต่ยังสามารถนำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่อันตรายได้ด้วยนะครับ และเมื่อสะสมไปนาน ๆ ก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายโรค เรามาดูกันดีกว่าครับ ว่าฝุ่น PM 2.5 สามารถก่อให้เกิดโรคอะไรบ้าง และเราควรระวังอย่างไรครับ

โรคเรื้อรังที่มาจากฝุ่น PM 2.5

• โรคทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดหรือกระตุ้นอาการของโรคทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด หลอดลมอักเสบ

• โรคหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นและกระตุ้นให้เกิดปัญหาหลอดเลือด เกิดการอักเสบในหลอดเลือด

• โรคภูมิแพ้ การสัมผัสฝุ่นสามารถทำให้เกิดอาการคัดจมูก จาม หรือมีน้ำมูกไหล เกิดการระคายเคือง หรือผื่น

• โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ทำให้หายใจลำบาก และมีอาการไอเรื้อรังมากขึ้น เนื่องจากฝุ่นทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและเกิดการอักเสบในปอด

• โรคหลอดเลือดในสมอง อาจทำให้หลอดเลือดในสมองเกิดการตีบหรือแตกได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ผู้สูงอายุ

วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ศัตรูเงียบในอากาศ ที่ต้องระวัง (จบ)

• โรคมะเร็งปอด เนื่องจากสารพิษในฝุ่นสามารถทำลายเซลล์ในปอดและทำให้เกิดการกลายพันธุ์ที่อาจนำไปสู่มะเร็ง

• โรคกระดูกพรุน มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน และการเผาผลาญแคลเซียมในร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนในระยะยาว

วิธีป้องกันและดูแลสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5

หลายคนก็อาจจะรู้สึกกังวลเพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะเรื่องการหายใจ วันนี้เลยอยากจะมาแชร์อีกวิธีป้องกันและดูแลตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 กันหน่อย ว่านอกการการเลือกหน้ากากแล้ว ทำยังไงถึงจะลดความเสี่ยงได้บ้างเพื่อให้เราผ่านช่วงนี้ไปได้อย่างปลอดภัยครับ

1. หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านในช่วงที่มีฝุ่นเยอะ

ในวันที่ค่าฝุ่นสูงให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือหากจำเป็นต้องออกจากบ้านจริง ๆ ก็ควรสวมหน้ากาก N95 เพื่อกรองฝุ่นด้วยนะครับ

2. ติดตามสถานการณ์

คอยตรวจสอบดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) รับข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 แบบเรียลไทม์ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น แอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงที่มีค่าฝุ่นสูง

3. ใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน

ใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีฟิลเตอร์ HEPA ซึ่งสามารถช่วยกรองฝุ่น PM 2.5 ได้ ช่วยให้อากาศในบ้านสะอาดและปลอดภัยขึ้นได้ระดับนึงเลยครับ หมั่นเปิดเครื่องฟอกอากาศในห้องที่คุณพักหรือทำงาน โดยเฉพาะในห้องนอน

4. ดูแลสุขภาพสม่ำเสมอ

การดื่มน้ำจะช่วยให้ร่างกายชุ่มชื้น และช่วยชำระล้างสารพิษในร่างกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หมั่นออกกำลังกาย แต่ควรเลือกออกกำลังกายในที่ร่มหรือในบ้านก็ได้ครับ

5. พบแพทย์ประจำปี

ควรตรวจสุขภาพประจำปีอยู่เสมอนะครับ โดยเฉพาะสุขภาพของระบบหายใจและหัวใจ เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจจับปัญหาหรือโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ หรือหากมีอาการผิดปกติ เช่น ไอ หอบ หายใจลำบาก ควรพบแพทย์ทันทีครับ

ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่กลับมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของเราในระยะยาวครับ การได้รับฝุ่น PM 2.5 อย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคมะเร็งในอนาคต ด้วยสถานการณ์ฝุ่นที่ยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ การป้องกันตัวเองจากฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นเรื่องสำคัญ การเลือกใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพ

รวมถึงการหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกในวันที่ค่าฝุ่น PM 2.5 สูง และการใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน จะช่วยลดความเสี่ยงจากฝุ่นเหล่านี้ได้ระดับหนึ่งครับ และสุดท้ายนี้อยากฝากทุกคนเกาะติดสถาณการณ์อย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยเฉพาะผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สีแดง ควรให้ความสำคัญในการป้องกัน และระมัดระวังฝุ่น PM 2.5 เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาว เพราะนี้คือ “ศัตรูเงียบในอากาศ” เป็นวายร้ายที่เราต้องตระหนักและรับมืออย่างจริงจังครับ

 

คอลัมน์ Healthcare Insight หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,082 วันที่ 27 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2568